โรงเรียนหนองฉางวิทยา

ที่ตั้ง 51 หมู่ 3 ตำบลหนองฉาง อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี | โทร 056-531146 | โทรสาร 056-531625 | e-mail : ncwschool@ncw.ac.th | website : ncw.ac.th

ข้อมูลโรงเรียน

      โรงเรียนหนองฉางวิทยา ที่ตั้ง 51 หมู่ 3 ตำบลหนองฉาง อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 42 เปิดสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เนื้อที่ 42 ไร่ เขตพื้นที่บริการ จำนวน 7 ตำบล 36 หมู่บ้าน ประกอบด้วย
         - ตำบลหนองสรวง หมู่ที่ 1 -5
         - ตำบลหนองฉาง หมู่ที่ 1 -7
         - ตำบลทุ่งพง หมู่ที่ 1
         - ตำบลบ้านเก่า หมู่ที่ 4 -9
         - ตำบลอุทัยเก่า หมู่ที่ 1 -10
         - ตำบลหนองนางนวล หมู่ที่ 2, 4, 5
         - ตำบลหนองยาง ที่ 3, 5, 6, 8

ประวัติโรงเรียนโดยย่อ

      โรงเรียนหนองฉางวิทยา เดิมชื่อ โรงเรียนหนองฉาง (มัธยมวิสามัญศึกษา) สังกัดกรมวิสามัญศึกษากระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลหนองฉาง อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี เนื่องจากโรงเรียนนี้มีชื่อพ้องกับโรงเรียนหนองฉาง(ประถมศึกษาตอนปลาย) สังกัดกองการประถมศึกษา กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จึงขอเพิ่มนามต่อท้ายชื่อเดิมเป็น “วิทยา” เปลี่ยนจากโรงเรียนหนองฉาง เป็น “โรงเรียนหนองฉางวิทยา”
      โรงเรียนหนองฉางวิทยา ได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คือท่าน พล.อ.อ.มุนี มหาสันชนะเวชยนต์รังสฤษดิ์ เปิดทำการสอนเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2500 จัดการศึกษา แบบสหศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น รับนักเรียนที่จบจากชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 ในปีแรกเปิดรับนักเรียนชายหญิง เข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 1 ห้องเรียน มีนักเรียน 29 คน ก่อนที่ระทรวงศึกษาธิการจะอนุมัติให้เปิดทำการสอนในปีการศึกษา 2500 มีผู้ปกครองนักเรียน สมาชิกสภาตำบล พ่อค้า ประชาชน และข้าราชการทุกแผนก ได้ประชุมปรึกษาหารือกัน ต่างมีความเห็นสอดคล้องกันว่า อำเภอหนองฉาง ควรจะได้มีโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดกรมวิสามัญศึกษาขึ้น เพื่อรับนักเรียนที่จบจากโรงเรียนหนองฉาง(ประถมศึกษาตอนปลาย) และนักเรียนที่จบจากที่อื่น ๆ ที่ยังหาที่เรียนไม่ได้ คณะบุคคลดังกล่าวข้างต้นจึงพร้อมใจกันเป็นแรงผลักดันอันสำคัญเร่งให้กระทรวงศึกษาธิการอนุมัติให้เปิดเรียนได้เร็วยิ่งขึ้น
      เนื่องในโอกาสที่รองอธิบดีกรมสามัญศึกษา นายวิทูร พัวทอง ได้กรุณาตรวจเยี่ยมจังหวัดอุทัยธานี เมื่อปลายเดือนมีนาคม พ.ศ.2500 และหลังจากนั้นเพียงสามสัปดาห์โรงเรียนหนองฉางวิทยาได้รับอนุมัติจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้เปิดทำการจัดการเรียนการสอน นับว่าเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดกรมสามัญศึกษา ในระดับอำเภอเป็นแห่งแรกของจังหวัดอุทัยธานี และเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาโรงเรียนที่ 3 ของจังหวัดอุทัยธานี

ข้อมูลพื้นฐาน

ตราสัญลักษณ์โรงเรียน :
      เป็นรูปคบเพลิง ประกอบด้วยเปลวไฟเปล่งประกายโชติช่วง กลางด้ามคบเพลิงเป็นรูปหนังสือ และปลายด้ามคบเพลิงมีปลายหางปลาบรรจุข้อความ “โรงเรียนหนองฉางวิทยา"

คำขวัญ :
      เรียนดี มีคุณธรรม กิจกรรมเด่น

ปรัชญาโรงเรียน :
      ปญฺญา โลกสฺมิ ปชฺโชโต - ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก

สีประจำโรงเรียน :
      สีเทา – สีแดง ความหมาย มันสมอง

พระพุทธรูปประจำโรงเรียน :
      สมเด็จพระพิชิตมาร

อักษรย่อ :
      น.ฉ.ว.

วิสัยทัศน์

เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย ส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการ มุ่งสู่มาตรฐานสากล สร้างเครือข่ายพัฒนาผู้เรียน บนพื้นฐานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและความเป็นไทย

พันธกิจ

1. ส่งเสริมและพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ
2. พัฒนาครูและบุคลากรให้สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. ส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานและสู่คุณภาพระดับสากล
4. ส่งเสริมความร่วมมือและสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อพัฒนาการศึกษาอย่างมีคุณภาพ
5. ส่งเสริมให้ผู้เรียนและบุคลากรน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและความเป็นไทยไปใช้ในการดำเนินชีวิต

เป้าประสงค์

1. สถานศึกษามีระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล
2. ครูและบุคลากรทางการศึกษาสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เต็มศักยภาพ
3. ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตามเกณฑ์มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานและมาตรฐานสากล
4. เครือข่ายความร่วมมือมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ
5. ผู้เรียนและบุคลากรเป็นบุคคลแห่งความพอเพียงและรักความเป็นไทย

กลยุทธ์

1. ส่งเสริมและพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา
2. ส่งเสริมพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้จัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ
3. พัฒนาหลักสูตร กระบวนการจัดการเรียนรู้การวัดและประเมินผลที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล และสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและความเป็นไทย
4. พัฒนาระบบบริหารจัดการและส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและสร้างเครือข่ายเพื่อพัฒนาการศึกษาให้ยั่งยืน
5. พัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้เข้าถึงบริการทางการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง

อัตลักษณ์

ความรู้ดี มีคุณธรรม กิจกรรมเด่น

เอกลักษณ์

มีความเป็นเลิศทางวิชาการ

Oculux

กำลังโหลด...